A review by dadathe13th
ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind) by H.G. Wells

4.0

TW : ableist language

“ ในดินแดนคนตาบอด คนตาเดียวคือพระราชา “
“ In the country of blind, the one-eyed man is king. “
ตอนแรกเราก็ยังไม่ได้คิดอะไรกับประโยคนี้หรอกค่ะ แต่คิดไปคิดมาก็คุ้นๆ อยู่นะคะ :-)

เรื่องนี้มีตอนจบสองเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นที่สองตามมาหลังจากเขียนเวอร์ชั่นแรกไปแล้ว 35 ปี ตัวเราตอนนี้อ่านไปแค่เวอร์ชั่นแรกรู้สึกพึงพอใจ (รู้สปอยตอนจบอีกแบบมาก่อนแล้ว เลยยังไม่ค่อยอยากอ่านเท่าไหร่)

หนังสือว่าด้วยมีคนตาดี (เรียกตามหนังสือ) พลัดหลงเข้าไปในดินแดนคนตาบอด เท่านั้นเลย...

** Spoil Alert **
ยอมรับก่อนเลยว่าตอนแรกเราตีความไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงของสำนวน ‘ In the country of the blind, the one-eyed man is king. ‘ เรากลับคิดว่า one-eyed man นั้นหมายถึงผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างความมืดบอดกับการมองเห็น ยกตัวอย่างเช่น ตัวเอกในเรื่อง นูเนซ ผู้ที่คิดจะทำรัฐประหารในดินแดนคนตาบอดเพียงคิดแค่ว่าตนเป็นผู้ที่มองเห็น และใช้ความสามารถของการมองเห็นนั้นพร่ำเพ้อถึงสิ่งสวยๆ งามๆ ที่ยากเกินความเข้าใจของพวกคนตาบอด แทนที่จะมุ่งเน้นไปสู่สิ่งที่จะทำให้คนตาบอดเชื่อและเคารพเขา และนี่คือสิ่งที่พวกคนตาดีเป็น เปี่ยมล้นด้วยความหยิ่งทะนง สุดท้ายก็กลายเป็นแค่ผู้ที่มีสติปัญญาต่ำต้อยในหมู่คนตาบอดก็เท่านั้น

หากเปลี่ยนคนตาดีเป็นคนตาเดียวล่ะ ? คนตาเดียวที่มีทั้งคุณสมบัติของคนตาบอดและคนตาดี คนตาเดียวจะสามารถเข้าใจ ปรับตัวและอยู่รอดปลอดภัยในดินแดนคนตาบอดได้มากกว่าคนตาดีมั้ย ? แต่คนตาเดียวคงมีโอกาสในการขึ้นเป็นกษัตริย์สูงกว่าคนตาดีเป็นแน่แท้ ถึงได้มีคำพูดว่า ‘ หากอยากอยู่รอดปลอดภัย จงทำตาให้บอด ‘

กลับมามองดูดีๆ สถานการณ์ในทุกวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น ต่างฝ่ายต่างมองอีกฝ่ายว่าเป็นคนมืดบอดเสมอ หากเรานั้นยังเป็นผู้น้อยในสังคม ความรู้หรือประสบการณ์ที่เรามีก็เป็นสิ่งที่เขามองว่าโง่และไร้ค่า มิหนำซ้ำการตื่นรู้และมองเห็นสิ่งต่างๆ กลับนำสิ่งที่อันตรายมาสู่ตัวเรา คนรอบตัวเรา ความหวังดีของเราที่มีต่อเราเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเอง ไม่ต่างกับสิ่งที่นูเนซเจอในดินแดนคนตาบอดเลย

ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเล่มเล็กๆที่เขียนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนจะยังสะท้อนสังคมปัจจุบันได้ชัดเจนขนาดนี้

ปล. ขอโทษสำหรับ ableist language ที่ใช้ในการเปรียบเทียบด้วยนะคะ